Point of view
วัน-เวลาทำการ : เราจะติดต่อกลับในเวลาทำการ : จันทร์ - ศุกร์ 09.00 - 17.00
(หยุดวันเสาร์ - อาทิตย์ และ วันหยุดตามปฏิทิน)
ติดต่อข่าวสารโปรโมชั่นทัวร์
qrcode
@povtravel

เที่ยวพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)

สิงหาคม 5, 2020 | by Point of view

เที่ยวพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระแก้ว เป็นพระราชนิเวศน์แห่งแรกในกรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในปี พ.ศ. 2325 มูลเหตุแห่งการสร้างเกิดขึ้นเนื่องจาก ทรงเห็นว่ากรุงธนบุรี มีชัยภูมิไม่เหมาะสมเพราะมีลำน้ำผ่านกลางเมือง เรียกว่าเมืองอกแตก เมืองลักษณะนี้ข้าศึกสามารถรุกรานได้ง่าย สาเหตุอีกประการหนึ่งเนื่องจาก พระราชวังกรุงธนบุรี มีวัดขนาบ 2 ด้าน คือวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ทำให้ไม่สามารถขยายพระราชวังให้ยิ่งใหญ่เหมือนพระราชวังเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาได้

พระบรมมหาราชวังเป็นพระราชนิเวศน์แห่งแรกในกรุงเทพมหานคร ราชธานีหรือเมืองหลวงใหม่ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ในปี พ.ศ. 2325

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรี ซึ่งอยู่ฝากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตะวันออก ซึ่งสถานที่แห่งนี้เดิมเป็นที่อยู่ของเหล่าบรรดาชาวจีนภายใต้การดูแลของพระยาราชาเศรษฐี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายชาวจีนเหล่านี้ไปตั้งหลักแหล่งใหม่ ณ บริเวณที่สวนตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิ์ ฯ) ถึงคลองวัดสามเพ็ง (วัดสัมพันธวงศ์) ปัจจุบันคือเยาวราช โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาธรรมาธิกรณ์และพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองในการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง และในวันที่ 13 มิถุนายน 2325 เวลา 6 นาฬิกา 24 นาที อันเป็นมงคลฤกษ์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคจากพระราชวังกรุงธนบุรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังพระบรมมหาราชวัง ทรงประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษก และเฉลิมพระราชมณเฑียร

พระบรมมหาราชวังเมื่อแรกสร้างมีเนื้อที่ 132 ไร่ แต่ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเห็นว่าเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งเป็นที่ประทับสำหรับพระมเหสี พระราชเทวี เจ้าจอมและเจ้านายฝ่ายในมีความคับแคบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเนื้อที่ด้านทิศใต้ออกไปทางถนนท้ายวัง เพิ่มขึ้นอีก 20 ไร่ 2 งาน รวมมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 152 ไร่ 2 งาน โดยแบ่งเขตออกเป็น 3 ส่วน คือ

• เขตพระราชฐานชั้นนอก • เขตพระราชฐานชั้นกลาง • เขตพระราชฐานชั้นใน

ล้อมด้วยกำแพงก่ออิฐถือปูนประกอบด้วยประตูและป้อมปราการ ดังนี้
ประตูชั้นนอกรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง มีทั้งหมด 12 ประตู คือ
1. ประตูวิมานเทเวศน์
2. ประตูวิเศษไชยศรี
3. ประตูมณีนพรัตน์
4. ประตูสวัสดิโสภา
5. ประตูเทวาพิทักษ์
6. ประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ 
7. ประตูวิจิตรบรรจง
8. ประตูอนงคารักษ์
9. ประตูพิทักษ์บวร
10. ประตูสุนทรทิศา
11. ประตูเทวาภิรมย์
12. ประตูอุดมสุดารักษ์

ป้อมปราการ มีทั้งหมด 17 ป้อม คือ
1. ป้อมอินทรรังสรรค์
2. ป้อมขันธ์เขื่อนเพชร
3. ป้อมเผด็จดัสกร
4. ป้อมสัญจรใจวิง
5. ป้อมสิงขรขันธ์
6. ป้อมขยันยิ่งยุทธ
7. ป้อมฤทธิรุทธ์โรมรัน
8. ป้อมอนันตคีรี
9. ป้อมมณีปราการ 
10. ป้อมพิศาลสีมา
11. ป้อมภูผาสุทัศน์
12. ป้อมสัตตบรรพต
13. ป้อมโสฬสลีลา
14. ป้อมมหาโลหะ
15. ป้อมทัศนานิกร
16. ป้อมพรหมอำนวยศิลป์
17. ป้อมอินทร์อำนวยศร

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เป็น พระอารามที่สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวัง ประเพณีการสร้างวัดภายในเขตพระราชวัง มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี เช่น วัดมหาธาตุในสมัยกรุงสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญในสมัย
กรุงศรีอยุธยา มีความแตกต่างจากวัดทั่วไป คือ มีเฉพาะเขตพุทธาวาส ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา เป็นวัดสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ตามโบราณราชประเพณี

เที่ยวพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระแก้ว - 1

พระอุโบสถ

เที่ยวพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระแก้ว - 2

พระอุโบสถ เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานพระอุโบสถหย่อนท้องช้างเป็นเส้นโค้ง หลังคาทรงไทย 4 ชั้นลด หน้าบันจำหลักลายรูปนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค ล้อมรอบด้วยลาย
ก้านขดเทพนม ลงรักปิดทองประดับกระจกเสานางเรียงโดยรอบ มีจำนวน 48 ต้น เป็นเสาย่อมุม ไม้สิบสอง ปิดทองประดับกระจกผนังพระอุโบสถด้านนอกประดับลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ปิดทองประดับกระจกซุ้มพระทวารและพระบัญชรเป็นซุ้มปูนปั้นทรงมณฑปที่ฐานปัทม์โดยรอบตกแต่งด้วยรูปครุฑยุดนาค หล่อด้วยสำริดปิดทอง มีจำนวน 112 รูปที่บันไดทางขึ้นพระอุโบสถตั้งแต่งด้วยสิงห์สำริดศิลปะแบบเขมร รวม 6 คู่ สิงห์คู่กลางด้านหน้าพระอุโบสถนำมาจากเมืองบันทายมาศ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ส่วนอีก 5 คู่ที่เหลือเป็นสิงห์จำลองจากคู่กลางบานพระทวารและพระบัญชรประดับมุกฝีมือช่างในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1

ฝาผนังด้านในทั้ง 4 ด้าน มีจิตรกรรมฝาผนังเขียนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระแก้วมรกตเป็นภาพมารผจญ ผนังหุ้มกลองด้านหลังเป็นภาพไตรภูมิ ผนังด้านข้างเป็นภาพพระปฐมสมโพธิกถาและชาดก รวมทั้งภาพกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและทางสถลมารค

จิตรกรรมฝาผนังเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 3 ผนังหุ้มกลองด้านหลังเป็นภาพไตรภูมิ ผนังด้านข้าง เป็นภาพพระปฐมสมโพธิกถาและชาดก รวมทั้งภาพ กระบวนพยุหยาตราทางชลมารคและทางสถลมารค

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระแก้วมรกตมีพระพุทธ
ลักษณะเป็นศิลปแบบล้านนาตอนปลาย ประทับนั่งปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ
องค์พระแกะสลักจากเนื้อหยกสีเขียวทึบชิ้นเดียว

เที่ยวพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระแก้ว ภายในพระอุโบสถจะเห็นบุษบกทองคำเหนือฐานชุกชี ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อัญเชิญมาจากพระวิหารน้อย วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2327 พระแก้วมรกตมีพระพุทธลักษณะเป็นศิลปะแบบล้านนาตอนปลาย เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง
ปางสมาธิ องค์พระแกะสลักจากเนื้อหยกสีเขียวทึบชิ้นเดียว มีขนาดหน้าตักกว้าง 48.3 เซนติเมตร ความสูงจากฐานถึงพระรัศมี 66 เซนติเมตร
ตามประวัติกล่าวว่า ได้พบพระแก้วมรกตครั้งแรกที่เมืองเชียงราย ในปีพ.ศ. 1977 โดยพบอยู่ในเจดีย์องค์หนึ่งซึ่งถูกฟ้าผ่า ครั้งนั้นพระแก้วมรกตถูกหุ้มด้วยปูนปิดทอง เจ้าอาวาสจึงอัญเชิญไปประดิษฐานภายในกุฏิของท่าน ต่อมาปูนที่ปลายพระนาสิกกะเทาะออก ทำให้เห็นเนื้อหยกสีเขียว เจ้าอาวาสจึงให้กะเทาะเนื้อปูนออกทั้งหมด เห็นเป็นพระพุทธรูปหยกสีเขียวทึบทั้งองค์ ความนี้ทราบไปถึงพระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงโปรดฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตประทับบนหลังช้างมายังเมืองเชียงใหม่ แต่ปรากฏเป็นอัศจรรย์ว่าเมื่อกระบวนช้างมาถึงทางแยกสามแพร่ง ช้างทรงที่อัญเชิญพระแก้วมรกตตื่นไปทางเมืองลำปาง แม้จะมีการเปลี่ยนช้างทรง 2 ครั้ง ช้างนั้น ก็ยังคงมุ่งไปทางเมืองลำปาง พระเจ้าสามฝั่งแกนจึงทรง
พระดำริว่า ชะรอยเทวดาผู้รักษาพระแก้วมรกตมีความประสงค์จะไปเมืองลำปางมากกว่า จึงประดิษฐานพระแก้วมรกตที่เมืองลำปาง เป็นเวลา 32 ปี ต่อมาในสมัยพระเจ้าติโลกราช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ รวมเป็นเวลา 84 ปี

จนถึงสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานที่เมืองหลวงพระบางและ เวียงจันทร์ กรุงศรีสัตนาคตหุต เป็นเวลา 226 ปี ในปี
พ.ศ. 2321 เจ้าพระยาจักรี (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ได้ยกทัพตีได้เมืองเวียงจันทร์ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาประดิษฐานที่พระวิหารน้อย วัดอรุณราชวราราม เมื่ออัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องทรงประจำฤดูถวายพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร 2 ฤดู คือ เครื่องทรงสำหรับฤดูร้อน และฤดูฝน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชศรัทธาสร้างเครื่องทรงสำหรับหนาวถวายอีก 1 ชุด แต่เครื่องทรงทั้ง 3 ฤดูในปัจจุบัน สร้างขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 ทำด้วยทองคำประดับเนาวรัตน์ โดยเครื่องทรงทั้ง 3 ฤดู องค์เก่า โปรดเกล้าฯ ให้นำไปประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชประเพณีการเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต กระทำปีละ 3 หน คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 เพื่อทรงเครื่องสำหรับฤดูร้อนวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เพื่อทรงเครื่องสำหรับฤดูฝนวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 เพื่อทรงเครื่องสำหรับฤดูหนาว

ด้านหน้าฐานชุกชีจะประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง ปางห้ามสมุทร 2 องค์ สูง 3 เมตร สร้างโดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์ด้านทิศเหนืออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระอัยกา พระราชทานนามพระพุทธรูปว่า “พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” สำหรับองค์ทางด้านทิศใต้ทรงอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานนามพระพุทธรูป “พระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย” และโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนขานพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 และ รัชกาลที่ 2 ตามพระนามพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์นี้
บริเวณฐานชุกชียังประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางห้ามสมุทร อีก 10 องค์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่เจ้านายฝ่ายหน้าและฝ่ายใน
ด้านหน้าฐานชุกชีมีพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่ง คือ พระสัมพุทธพรรณี ห่มจีวรเฉียงมีริ้ว ประทับนั่งปางสมาธิ สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงผนวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดราชาธิวาส พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธลักษณะที่แตกต่างจากพระพุทธรูปองค์อื่นๆ คือ ไม่มีพระเกตุมาลา พระรัศมีเป็นเปลวไฟ มี 3 องค์ คือ สีทองสำหรับฤดูร้อน สีน้ำเงินสำหรับฤดูฝน และสีหยาดน้ำค้าง (แก้วใส) สำหรับฤดูหนาว โดยจะเปลี่ยนคราวเดียวกับพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

จิตรกรรมฝาผนัง

เที่ยวพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระแก้ว - 3
เที่ยวพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระแก้ว - 4

     จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์รอบพระระเบียงเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาชำรุดเนื่องจากความชื้นจึงเขียนซ่อมเมื่อมีการฉลองพระนครในสมัยรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ภาพชุดรามเกียรติ์นี้เริ่มตั้งแต่ภาพนารายณ์อวตารปางต่างๆ ก่อนที่จะอวตารเป็นพระราม ปรากฏอยู่ตามซุ้มประตูและมุขพระระเบียง ประมาณ 80 ภาพ แล้วไปต่อเรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่ห้องที่ 1 – 178 มีคำบรรยายใต้ภาพและคำบรรยายเป็นโคลงสลักบนแผ่นหินอ่อนติดอยู่ที่เสารอบพระระเบียง 

ยักษ์ทวารบาล

เที่ยวพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระแก้ว  บริเวณพระทวารพระระเบียงด้านในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งแต่งยักษ์ทวารบาล การก่ออิฐถือปูน ทาสีและประดับกระเบื้องเคลือบ มีขนาดสูง 6 เมตร รวมจำนวน 6 คู่ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยักษ์ทวารบาลเหล่านี้เป็นตัวละครสำคัญในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์

สุริยาภพ (กายสีแดง) > อินทรชิต (กายสีเขียว) > มังกรกัณฐ์ (กายสีเขียว) > วิรุฬหก (กายสีขาบ หรือน้ำเงินเข้ม) > ทศคีรีธร (กายสีเขียว) > ทศคีรีวัน (กายสีหม้อไหม้) > กรวรรดิ (กายสีขาว) > อัศกรรณมารา (กายสีม่วงเข้ม) > ทศกัณฐ์ (กายสีเขียว) > สหัสเดชะ (กายสีขาว) > ไมยราพณ์ (กายสีม่วงอ่อน)> วิรัญจำบัง (กายสีขาวเจือดำ)

ประติมากรรมฤาษี

เป็นรูปปั้นหล่อด้วยสำริด ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างประดิษฐาน เพื่อระลึกถึงการแพทย์แผนโบราณ ด้านหน้าของฤาษี ตั้งแท่นวางหินบดยา ซึ่งคนในสมัยก่อนจะมีการนำสมุนไพรมาบดที่นี่ โดยเชื่อว่าจะทำให้สมุนไพรนั้น มีสรรพคุณมากขึ้น

หอพระราชกรมานุสร และ หอพระราชพงศานุสร

หอพระทั้ง 2 หลังนี้ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสถาปัตยกรรมทรงไทย ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เหมือนกัน
ทุกประการ แตกต่างที่หน้าบันแต่ละด้าน เป็นลายพระราชลัญจกรของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 – 4 หอพระด้านทิศเหนือมีชื่อว่าหอพระราชกรมานุสร ประดิษฐานพระพุทธรูป จำนวน 34 องค์ ที่ทรงอุทิศถวายแด่พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา 33 พระองค์ และพระเจ้ากรุงธนบุรี อีก 1 พระองค์ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เป็นภาพเขียนสีฝุ่น ฝีมือจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ 4 ชื่อ ขรัวอินโข่ง ส่วนหอพระทางด้านทิศใต้มีชื่อว่าหอพระราชพงศานุสร ประดิษฐานพระพุทธรูปที่อุทิศถวายแด่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี 

พระศรีรัตนเจดีย์

พระศรีรัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงลังกา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี
พ.ศ. 2398 สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
พระศรีรัตนเจดีย์นี้ถอดแบบมาจากพระเจดีย์ 3 องค์
วัดพระศรีสรรเพชญ ในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา
เมื่อแรกสร้างนั้นเป็นพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว ต่อมา
ได้มีการตกแต่งด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง (ทำจากทองคำเปลว) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระมณฑป

เมื่อแรกสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลก บริเวณที่ตั้งพระมณฑปนี้เป็นสระน้ำขนาดใหญ่ และมีหอพระมณเฑียรธรรมสร้างด้วยไม้ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ในครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ขึ้นที่วัดสลัก (ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุ) เมื่อสังคายนาเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2332 ก็มีการแห่แหนนำพระไตรปิฎกมาประดิษฐานภายในหอพระมณเฑียรธรรม และโปรดฯ ให้มีการเฉลิมฉลองสมโภช เวลากลางคืนมีการจุดดอกไม้ไฟ ปรากฏว่าดอกไม้ไฟได้ตกต้องหลังคาหอพระมณเฑียรธรรมทำให้เกิดไฟไหม้ แต่สามารถขนย้ายพระไตรปิฎกออกมาได้ทัน ต่อมาจึงโปรดฯ ให้ถมสระน้ำและก่อฐานสร้างพระมณฑปองค์นี้ขึ้นแทน พระมณฑปนี้สร้างขึ้นแบบสถาปัตยกรรมทรงไทย เลียนแบบพระมณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทในจังหวัดสระบุรี ภายในตั้งตู้ไม้ประดับมุกประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ ผนังด้านนอกทำลายเทพพนมทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ปิดทองประดับกระจก มีบันไดทางขึ้น 4 ด้าน รวมบันไดทำรูปนาค 5 เศียร มีใบหน้ามนุษย์ บานพระทวารทั้ง 4 ด้านประดับมุก ฐานพระมณฑปบริเวณหน้าพระทวารตั้งแต่งรูปยักษ์ทวารบาล ด้านละ 1 คู่ และบริเวณมุมทั้ง 4 ก่อแท่นเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาทำด้วยหินอัคนี ซึ่งรัฐบาลชวาได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสชวาในปีพุทธศักราช 2414 แต่พระพุทธรูปที่ประดิษฐานในปัจจุบันเป็นองค์จำลอง สำหรับองค์จริงนำไปประดิษฐานที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระบุษบก

ลานฐานไพทีบริเวณมุมพระมณฑปทั้ง 4 มุม ตั้งแต่ง
พระบุษบกทอง สำหรับประดิษฐานพระราชสัญลักษณ์และพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 ประดิษฐานอยู่บนพานแว่นฟ้า
-พระบุษบกองค์ที่ 1 (ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) ประดิษฐานพระราชสัญลักษณ์ประจำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3
-พระบุษบกองค์ที่ 2 (ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้) ประดิษฐานพระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4
-พระบุษบกองค์ที่ 3 (ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้) ประดิษฐานพระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5
-พระบุษบกองค์ที่ 4 (ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) ประดิษฐานพระราชลัญจกรประจำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 – รัชกาลที่ 9

พระบุษบกองค์ที่ 1 – 3 สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับองค์ที่ 4 สร้างใน
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อคราวฉลองสมโภชพระนคร 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525
รายรอบพระบุษบกประดับด้วยฉัตรและช้างสำริด ช้างสำริดนี้หมายถึงช้างเผือกคู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในแต่ละรัชกาล

Klook.com

ปราสาทพระเทพบิดร

เป็นสถาปัตยกรรมจัตุรมุขทรงไทย หลังคายกยอดปราสาทแบบปรางค์ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2399 เมื่อแรกสร้างทรงพระราชทานนามว่า “พระพุทธปรางค์ปราสาท” โดยมีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระแก้วมรกตจากพระอุโบสถมาประดิษฐานไว้ที่หอพระนี้ แต่เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ปรากฎว่ามีขนาดเล็กเกินไป ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญเจดีย์กาไหล่ทองขนาดเล็ก จากสวนศิวาลัยภายมาประดิษฐานไว้ภายใน แต่ในปี พ.ศ. 2446 ได้เกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจรทำให้เพลิงไหม้ที่หลังคาปราสาท การซ่อมแซมได้ดำเนินมาและแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 จากพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท มาประดิษฐานภายในโถงกลางปราสาท พร้อมทั้งอัญเชิญพระเทพบิดรจากพระวิหารยอดมาประดิษฐานที่ซุ้มจรนำ
มุขตะวันตก และโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจาก “พระพุทธปรางค์ปราสาท” มาเป็น “ปราสาทพระเทพบิดร” มีกำหนดให้เปิดเพื่อถวายบังคมพระบรมรูปปีละ 1 ครั้ง ในวันที่ 6 เมษายนของทุกปี เรียกว่า “วันจักรี” เพื่อรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ผู้ทรงก่อตั้งราชวงศ์จักรี ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้เปิดปราสาทพระเทพบิดรเพิ่มเป็นปีละ 7 วัน คือ วันที่ 6 เมษายน, 13-15 เมษายน, 5 พฤษภาคม, 23 ตุลาคม และวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี

นครวัดจำลอง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้
พระสามภพพ่ายถ่ายแบบมาจากนครวัด เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา แต่การก่อสร้างนครวัดจำลองยังไม่แล้วเสร็จก็สิ้นรัชสมัยไปเสียก่อน ต่อมาพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้า
ประวิช ชุมสาย ดำเนินการสร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์

พระอัษฎามหาเจดีย์

เที่ยวพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระแก้ว - 5

สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ รวมทั้งสิ้น 8 องค์ สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็น
พระพุทธบูชา ปรางค์แต่ละองค์มีความหมายและมีสีที่แตกต่างกัน คือ
1. พระสัมมาสัมพุทธเจดีย์ สีขาว หมายถึง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
2. พระสัทธรรมปริยัติวรามหาเจดีย์ สีขาบ หมายถึง พระธรรม
3. พระอริยสงฆ์สาวกมหาเจดีย์ สีชมพู มายถึง พระภิกษุสงฆ์
4. พระอริยสาวกภิกษุณีสังฆมหาเจดีย์ สีเขียว หมายถึง พระภิกษุณี
5. พระปัจเจกโพธิสัมพุทธมหาเจดีย์ สีม่วง หมายถึง พระปัจเจกพุทธเจ้า
6. พระบรมจักรวรรดิราชามหาเจดีย์ สีฟ้า หมายถึง พระมหาจักรพรรดิ
7. พระโพธิสัตว์กฤษฎามหาเจดีย์ สีแดง หมายถึง พระโพธิสัตว์
8. พระศรีอริยเมตยมหาเจดีย์ สีเหลือง หมายถึง พระศรีอริยเมตไตรย

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

เป็นพระที่นั่งแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นายสถาปนิกชาวอังกฤษจากสิงคโปร์ ชื่อ มิสเตอร์ จอนห์ คลูนิช ทำหน้าที่เป็นนายช่างออกแบบถวายตามพระราชดำริ โดยสร้างตามแบบอย่างศิลปกรรมตะวันตกมีหลังคาทรงโดม ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กราบบังคมทูลว่า ควรยกยอดพระที่นั่งเป็นแบบปราสาทเห็นจะเหมาะสม เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการสร้างพระที่นั่งปราสาทเรียงกัน 3 องค์ คือ พระที่นั่งวิหารสมเด็จ พระที่นั่งสรรเพชญปราสาท และพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ ในกรุงรัตนโกสินทร์มีการสร้างอยู่แล้ว 2 องค์ คือ หมู่พระมหามณเฑียรเปรียบได้กับพระที่นั่งวิหารสมเด็จ และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เปรียบได้กับพระที่นั่ง
สุริยาสอมรินทร์ ขาดแต่พระที่นั่งสรรเพชญปราสาทที่อยู่ตรงกลาง นอกจากนี้การสร้างพระมหาปราสาทนั้นถือกันมาแต่โบราณว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ ของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่
ทรงสร้าง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโดยองค์พระที่นั่งเป็นแบบตะวันตก ส่วนเครื่องยอดให้ยกเป็นยอดปราสาทตามแบบสถาปัตยกรรมไทย พระราชทานนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ในปี พ.ศ. 2425 ซึ่งตรงกับพระนครครบ 100 ปี

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงใช้พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นที่ประทับและเสด็จออกให้คณะทูตานุทูตต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นและอักษรสาส์นตราตั้ง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นที่พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ สำหรับพระราชอาคันตุกะที่เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ประกอบด้วยพระที่นั่ง 3 องค์เรียงกันจากตะวันออกไปตะวันตก เชื่อมต่อกันด้วยมุขกระสัน ซึ่งมีรายละเอียด

คือ พระที่นั่งจักรีองค์ตะวันออก
-ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญของพระมหากษัตริย์
-ชั้นที่ 2 เป็นห้องไปรเวตในปัจจุบันเป็นห้องรับรองพระราชอาคันตุกะและแลกเปลี่ยนของขวัญ ก่อนเวลาพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่ท้องพระโรงกลาง
-ชั้นล่างเป็นห้องสำหรับราชองครักษ์

พระที่นั่งจักรีองค์กลาง
-ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 – รัชกาลที่ 9, พระมเหสีในรัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 7 ตลอดจนพระอัฐิพระบรมราชชนกและพระราชนนีในรัชกาลที่ 9
-ชั้นที่ 2เป็นท้องพระโรงหน้า
-ชั้นล่างเป็นห้องสำหรับกองทหารรักษาการณ์

พระที่นั่งจักรีองค์ตะวันตก
-ชั้นบนเป็นที่ประดิษฐานพระโกศพระอัฐิของพระราชเทวีและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง
-ชั้นที่ 2เป็นห้องทรงงานและห้องทรงพระอักษร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นห้องสำหรับพระราชอาคันตุกะฝ่ายหญิงเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
-ชั้นล่างเป็นห้องสมุด

มุขกระสันด้านตะวันออก
-ชั้นบนเป็นทางเดินเชื่อมต่อกันระหว่างพระที่นั่งองค์กลางกับองค์ตะวันออก
-ชั้นที่ 2สำหรับรับรองพระราชอาคันตุกะ
-ชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องสัตราวุธโบราณ

มุขกระสันตะวันตก
-ชั้นบนเป็นทางเดินเชื่อมระหว่างพระที่นั่งองค์กลางกับองค์ตะวันตก
-ชั้นที่ 2สำหรับรับรองพระราชอาคันตุกะ
-ชั้นล่างเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงพระแสงปืนโบราณท้องพระโรงกลางในอดีตเป็น

ท้องพระโรง สำหรับพระมหากษัตริย์ออกให้คณะทูตานุทูตเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นหรือเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสต่างๆ สมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่สำหรับพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแก่พระราชอาคันตุกะ ภายในท้องพระโรงกลางนี้ประดิษฐานพระราชบัลลังก์ประจำพระที่นั่ง มีชื่อว่า “พระที่นั่งพุดตานถม” สร้างโดยเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และพระยาเพชรพิชัย (จีน) องค์พระที่นั่งเป็นศิลปะแบบถมตะทอง ส่วนพนักพิงทำเป็นทองคำลงยาประดับเนาวรัตน์ กางกั้นด้วย
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ผนังด้านหลังเขียนรูปตราจักรี

Klook.com

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

เดิมเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ซึ่งเป็นพระที่นั่งสร้างด้วยไม้ทั้งองค์ ถอดแบบมาจากพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท สมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2328 สำหรับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต่อมาในปี พ.ศ. 2332 ได้เกิดอสนีบาตที่มุขเด็จ ทำให้เกิดไฟลุกไหม้หมดทั้งองค์พระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อซากและสร้างพระมหาปราสาทองค์ใหม่ประกอบด้วยพระที่นั่ง 2 องค์ เชื่อมต่อกันมีขนาดความยาวเท่ากับพระมหาปราสาทองค์เดิม พระราชทานนามว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งพิมานรัตยา ในส่วนของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ถอดแบบมาจากพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ ในพระราชวังหลวงกรุงศรีอยุธยา เป็นพระที่นั่งทรงจตุรมุข มุขด้านทิศเหนือมีมุขเด็จยื่นออกมา หลังคาลดหลั่น 4 ชั้น ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์แบบนาคเบือน คันทวยรองรับปราสาทเป็นไม้จำหลักรูปครุฑยุดนาค หน้าบันรูปพระนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่แผงรอคอสองเจาะช่องหน้าต่างเล็กๆ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งพิมานรัตยาในส่วนของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทถอดแบบมาจากพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ของกรุงศรีอยุธยา

ภายในมุขเด็จประดิษฐานบุษบก มีชื่อว่า พระที่นั่งบุษบกมาลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 เคยประทับให้ราชทูตหัวเมืองทวายเข้าเฝ้าเพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยาม
เทวาธิราชมาประดิษฐานภายในพระที่นั่งบุษบกมาลา เพื่อประกอบพระราชพิธีสังเวยเป็นประจำทุกวัน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เสด็จฯ ออกประทับให้ผู้ที่ไม่มีตำแหน่งเฝ้าในพระมหาปราสาท ได้เข้าเฝ้าฯ และถือน้ำพิพัฒน์
สัตยาในวันบรมราชาภิเษกสมโภช ปี พ.ศ. 2454 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณ มาประดิษฐานเพื่อให้ประชาชนได้สักการะ ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งสำหรับตั้งพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง นอกจากนี้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังใช้ประกอบพระราชพิธีฉัตรมงคลด้วย

ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

สำหรับคนไทยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมพระบรมมหาราชวัง โดยสามารถแสดงบัตรประชาชนได้ที่ทางเข้าเพื่อเข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ค่าบัตรเข้าชม 500 บาทสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ บัตรสามารถเข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พิพิธภัณฑ์ผ้า ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง กรณีที่ต้องการ Audio Guide สำหรับฟังบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน รัสเซีย ญี่ปุ่น จีนกลาง และไทย ซึ่งสามารถเช่าในราคา 200 บาท ที่บริเวณจุดประชาสัมพันธ์

การแต่งกาย

เที่ยวพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระแก้ว กรุณาแต่งกายให้สุภาพเมื่อเข้าไปในบริเวณพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งทางพระบรมมหาราชวังมีการตรวจการแต่งกายของผู้เข้าชมอย่างเคร่งครัด ดังนั้นขอให้ท่านตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ได้สวมใส่เครื่องแต่งกาย ดังนี้•เสื้อแขนกุด•เสื้อกั๊ก•เสื้อสั้น หรือ รัดรูป•กางเกงเเบบบาง•กางเกงขาสั้น•กางเกงที่ฉีกขาด•กางเกงรัดรูป•กางเกงสำหรับจักรยาน•กระโปรงสั้น

เวลาเปิดเข้าชม

ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 15.30 น.

สถานที่ตั้ง

ถนนหน้าพระลาน, เขตพระนคร ( รัตนโกสินทร์ )

ขอบคุณข้อมูล ที่มา คลิกที่นี่

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://povtravel.co.th/


ค้นหาที่พักในกรุงเทพมหานคร คลิก

Booking.com